เอทานอลมีสูตรโมเลกุล C2H5OH มีจุดเดือดประมาณ 78 องศาเซลเซียส คุณสมบัติโดยทั่วไปเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ติดไฟง่าย เป็นเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนที่เหมาะสมจะได้น้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดที่เผาไหม้ได้สมบูรณ์ขึ้น และช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยลดปริมาณสารประกอบไฮโดรคาร์บอน คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก (GREEN HOUSE EFFECT) ในชั้นบรรยากาศ
การผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง
บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“TAE”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยมีกรรมวิธีการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักโดยมีขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ 4 ขั้นตอนดังนี้
- การเตรียมวัตถุดิบ : มีกระบวนการแตกต่างกันตามประเภทวัตถุดิบที่ใช้ดังนี้
(ก) กากน้ำตาล: ทำการเจือจางกากน้ำตาลด้วยน้ำให้ได้ความเข้มข้นที่พอเหมาะ โดยการเติมกรดเพื่อให้สิ่งเจือปนพวก ORGANIC SALT ตกตะกอนออกจากกากน้ำตาล แล้วจึงส่งเข้าสู่กระบวนการหมักต่อไป
(ข) มันสำปะหลัง: ทำความสะอาดวัตถุดิบมันเส้นเพื่อกำจัดสิ่งเจือปนที่เป็นโลหะและดินทรายออกหลังจากนั้นมันเส้นจะถูกนำมาบดผสมกับน้ำจนได้เป็นน้ำแป้งและผ่านกระบวนการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลโดยใช้เอนไซม์ก่อนส่งไปยังกระบวนการหมักต่อไป - การหมัก : วัตถุดิบที่ได้จากการเตรียมในขั้นที่ 1 จะถูกป้อนไปยังถังหมักโดยใช้ยีสต์เป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์
- การกลั่น : น้ำหมักในขั้นที่ 2 จะถูกป้อนไปยังหอกลั่นเพื่อแยกสิ่งเจือปนและน้ำออกเพื่อทำให้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ขึ้นเป็นประมาณ 96% ซึ่งถือเป็นค่าความเข้มข้นสูงสุดที่สามารถทำได้ในระบบการกลั่นแบบปกติโดยน้ำที่เหลืออีก 4% จะถูกกำจัดออกในขั้นตอนสุดท้าย
- การดูดน้ำออก : เป็นการแยกเอาน้ำที่เหลือจากขั้นตอนการกลั่นออกเพื่อทำให้แอลกอฮอล์ไร้น้ำเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% โดยไอระเหยของแอลกอฮอล์จะผ่าน DEHYDRATION UNIT จำนวน 2 ถังซึ่งจะมีซีโอไลท์ (ZEOLITES) บรรจุไว้ภายในทำหน้าที่ดูดซับน้ำออกจากแอลกอฮอล์ โดยแอลกอฮอล์ที่แห้งแล้วจะถูกควบกลั่นและทำให้เย็นลงก่อนจะเก็บบรรจุไว้จำหน่ายต่อไป
คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้ใช้ราคาเอทานอลอ้างอิงจากการเปรียบเทียบราคาต่ำสุด ระหว่างราคาเอทานอลที่ผู้ผลิตรายงานต่อกรมสรรพสามิตกับราคาเอทานอลที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายงานต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นไป โดย TAE มีนโยบายในการกำหนดราคาขายจากต้นทุนบวกอัตรากำไรขั้นต้นที่เหมาะสม (Cost Plus Margin) ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาราคาเอทานอลอ้างอิงที่ประกาศโดย สนพ.แล้ว TAE ยังพิจารณาปัจจัยต่างๆ ประกอบในการกำหนดราคาขายเอทานอลแปลงสภาพเป็นสำคัญ เช่น ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอุปสงค์และอุปทานของตลาด รวมถึงภาวการณ์แข่งขันโดยรวมในขณะนั้นทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
การจำหน่ายและช่องทางการจัดจำหน่ายเอทานอล
กรมสรรพสามิตมีข้อกำหนดให้จำหน่ายเอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจะต้องผ่านการแปลงสภาพเป็น “เอทานอลแปลงสภาพ” (Denatured Ethanol) โดยผสมกับน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในสัดส่วน 0.5% ต่อเอทานอล 99.5% โดยปริมาตรเพื่อให้ได้เอทานอลแปลงสภาพสำหรับจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันจะนำเอทานอลแปลงสภาพไปผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนผสมต่างๆ เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ตามลำดับ โดยลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเอทานอลที่ซื้อเองเป็นส่วนใหญ่ และมีบางรายที่ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเอทานอลที่ซื้อจนถึงคลังเก็บน้ำมันของลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะขายเป็นเงินเชื่อโดยลูกค้าเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง จึงไม่มีความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าจะไม่ชำระหนี้ในอนาคต
กลยุทธ์ในการแข่งขัน
เน้นการให้บริการและการควบคุมคุณภาพสินค้า รวมถึงความแน่นอนในการส่งมอบสินค้า เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ทำให้สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและครอบครองส่วนแบ่งในตลาดไว้ได้เป็นส่วนใหญ่
ภาวะอุตสาหกรรมเอทานอล
ความต้องการใช้เอทานอลในปี 2566 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8 เนื่องจากรัฐบาลยกเลิกการชดเชยเงินกองทุนน้ำมันของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
ความต้องการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง
รายละเอียด | (หน่วย : ล้านลิตร) | |||||
---|---|---|---|---|---|---|
ปี 2561 | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | ปี 2566 | |
ปริมาณการใช้เอทานอล | 1,532.65 | 1,629.90 | 1,519.98 | 1,353.85 | 1,393.60 | 1,288.45 |
ปริมาณการใช้เอทานอลเฉลี่ยต่อวัน | 4.20 | 4.43 | 4.00 | 3.71 | 3.83 | 3.53 |
ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
ภาวะอุตสาหกรรมแก๊สโซฮอล์
เนื่องจากเอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น จะถูกนำไปผสมรวมกับน้ำมันเบนซินที่สัดส่วนต่างๆ เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20 และ E85 ตามลำดับ ดังนั้น ความต้องการใช้เอทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ จะแปรผันตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2566 ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศเพิ่มขึ้น 1.26 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 4.09 เมื่อเทียบกับปี 2565
ภาวการณ์แข่งขัน
ในปี 2566 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 27 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,770,000 ลิตรต่อวัน
ส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจเอทานอล
ปี | ปริมาณการใช้เอทานอลภายในประเทศ (ล้านลิตร) |
ปริมาณการขายเอทานอลแปลงสภาพของ TAE (ล้านลิตร) |
ส่วนแบ่งการตลาดของ TAE (ร้อยละ) |
---|---|---|---|
2561 | 1,532.65 | 115.830 | 7.56 |
2562 | 1,629.90 | 117.021 | 7.18 |
2563 | 1,519.98 | 104.425 | 6.87 |
2564 | 1,353.85 | 85.352 | 6.30 |
2565 | 1,393.60 | 73.325 | 5.26 |
2566 | 1,288.45 | 88.774 | 6.89 |
หมายเหตุ :
(1) TAE มีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2566 ร้อยละ 6.89 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 1.63
(2) ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
โครงการลงทุนในอนาคต
บริษัทฯ ได้วางแผนและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนและดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลาย การลงทุนมีความรัดกุม รอบคอบและระมัดระวัง และมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้บริษัทฯ เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจถ่านหินเป็นธุรกิจหลัก โดยมีแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียอยู่แล้ว 2 แห่งและได้เข้าไปลงทุนในแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินแหล่งที่ 3 ในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งถ่านหินดังกล่าวทั้ง 3 แห่งมีอายุสัมปทานคงเหลืออยู่อีกมากกว่า 10 ปี และมีปริมาณสำรองถ่านหินที่มีคุณภาพและมากเพียงพอที่จะสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว แต่กระแสที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมองว่าพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหารุนแรงและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ มีความพยายามที่จะนำไปซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามพลังงานฟอสซิลยังคงเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในปัจจุบันและการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลยังมีข้อจำกัดหลายประการ จึงทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลยังมีความจำเป็นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ รวมถึงเชื้อเพลิงถ่านหินก็ยังมีความต้องการและมีการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์ ความรู้และความชำนาญในการประกอบธุรกิจถ่านหินมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงยังคงมองหาช่องทางและโอกาสในการเข้าไปลงทุนในแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อชดเชยปริมาณสำรองถ่านหินที่ลดลงในแต่ละปีอันเกิดจากการผลิตอย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและพยายามพัฒนาเพื่อให้บริษัทฯ ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอนาคต บริษัทฯ วางแผนที่จะสร้างความสมดุลในการลงทุนโดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล เป็นต้น โดยเฉพาะปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ พยายามมองหาโอกาสหรือช่องทางในการลงทุนเพื่อทำให้เกิดการเติบโตรอบใหม่ หรือ New S-Curve โดยคิดนอกกรอบพลังงานในรูปแบบเดิมหรือคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจถ่านหิน (Non-Coal Business) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ อาจจะไม่มีความชำนาญหรือคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกับกิจการอื่นหรือการเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรก็ตาม โดยมีเป้าหมายเพื่อหาช่องทางในการลงทุนในธุรกิจอื่นที่จะมาช่วยเสริมรายได้และกำไรจากธุรกิจถ่านหินและธุรกิจเอทานอลที่บริษัทฯ ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีรวมทั้งสร้างรายได้และกำไรในอนาคตให้เพิ่มมากขึ้นอันจะนำไปซึ่งการเติบโตของบริษัทฯ อย่างมั่นคง มีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาวตามแนวทางและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
ลักษณะการประกอบธุรกิจเอทานอล
บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“TAE”) เป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 51 ของทุนที่ชำระแล้ว ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% โดยปริมาตร) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยมีโรงงานผลิตเอทานอลจำนวน 2 สายการผลิตตั้งอยู่ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกำลังการผลิตเอทานอลสายการผลิตที่ 1 จำนวน 150,000 ลิตรต่อวัน และสายการผลิตที่ 2 จำนวน 200,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งสิ้น 350,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งสองสายการผลิตได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ทั้งนี้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนผสม 10%, 20% และ 85% เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20 หรือ E85 ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์โดยทั่วไป ทั้งนี้หุ้นสามัญบริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเริ่มทำการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา